ทันโลกข่าวต่างประเทศ

Weekend Focus : ‘คิม จองอึน’ เปิดตัว ‘ลูกสาว’ ครั้งแรก มีลุ้นวางตัวเป็น ‘ผู้นำรุ่นที่ 4’

นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกจับตามองไม่น้อย หลังจากที่ผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือได้พา “ลูกสาว” ออกมาเปิดตัวระหว่างชมการทดสอบขีปนาวุธเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

Weekend-Focus

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ “ทายาทรุ่น 4” แห่งตระกูลคิม ได้รับการยืนยันว่ามีอยู่จริงอย่างปราศจากข้อสงสัย

สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ 19 พ.ย. ว่า ผู้นำ คิม ได้เดินทางไปชมการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) รุ่น “ฮวาซอง-17” เมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า โดยมีสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง “รี ซอลจู” และ “บุตรสาวที่รัก” ของทั้งคู่ติดตามไปด้วย

สื่อโสมแดงยังเผยภาพถ่ายขณะที่ผู้นำ คิม จูงมือเด็กหญิงที่สวมเสื้อโค้ตสีขาว รองเท้าสีแดง เดินผ่านขีปนาวุธขนาดใหญ่ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนรถบรรทุก รวมถึงภาพที่สองพ่อลูกยืนมองขีปนาวุธพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจากระยะไกล

แม้สื่อโสมแดงจะไม่ได้ระบุชื่อของเด็กหญิงผู้นี้ แต่หน่วยข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ (NIS) ได้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาในสัปดาห์นี้ว่า เด็กหญิงคนนี้น่าจะเป็นบุตรคนที่ 2 ของผู้นำ คิม ที่มีชื่อว่า “คิม จูเอ” (Kim Ju-Ae) และเวลานี้น่าจะอายุประมาณ 10 ขวบ

สาเหตุที่ NIS เชื่อว่าเธอเป็นบุตรคนที่ 2 ของผู้นำเกาหลีเหนือ ก็เนื่องจากมีข้อมูลข่าวกรองว่า คิม จูเอ เป็นเด็กที่รูปร่างสูงใหญ่กว่าเด็กหญิงในวัยเดียวกัน

หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ยังเชื่อว่า เด็กหญิงคนนี้ก็คือบุตรสาววัยแบเบาะของ คิม ที่ “เดนนิส ร็อดแมน” อดีตนักบาสเกตบอลดาวดังของเอ็นบีเอ บอกว่าเคยเจอขณะไปเยือนเปียงยางเมื่อปี 2013

ร็อดแมน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเดอะการ์เดียนของอังกฤษหลังกลับจากเปียงยางในปีนั้นว่า เขาได้ใช้เวลาพักผ่อนริมทะเลแบบเป็นส่วนตัวกับครอบครัวคิม และมีโอกาสได้อุ้มลูกสาวของผู้นำเกาหลีเหนือที่ชื่อว่า “จูเอ” ด้วย

สื่อเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า ผู้นำ คิม แต่งงานกับ รี ซอลจู เมื่อปี 2009 และมีบุตรด้วยกัน 3 คนซึ่งเกิดในปี 2010, 2013 และ 2017 ตามลำดับ บางรายงานระบุว่า บุตรคนแรกของผู้นำเกาหลีเหนือเป็น “ชาย” และคนสุดท้องเป็น “หญิง”

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่ คิม พาลูกสาวออกมาเปิดตัวในการทดสอบขีปนาวุธคราวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความฮึกเหิมและเชื่อมั่นในศักยภาพของคลังแสงนิวเคลียร์ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยค้ำจุนอำนาจของตระกูล คิม ไว้ ขณะที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า หากในอนาคต คิม ยังคงพาลูกสาวคนนี้ออกงานด้วยบ่อยๆ ก็อาจจะสื่อถึงการวางตัวเธอให้เป็นผู้นำรุ่นต่อไป

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าแนวคิดเรื่อง “ผู้นำหญิง” แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับสังคมเกาหลีเหนือที่เน้นระบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) และสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ ผู้นำ คิม ต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้ประชาชนได้เห็นว่า โครงการนิวเคลียร์คือ “อาวุธ” ที่จะช่วยปกป้องลูกหลานโสมแดง เหมือนอย่างที่สื่อของเปียงยางใช้คำพูดว่าเป็นดั่ง “อนุสาวรีย์ที่จะถูกส่งมอบต่อไปยังชนรุ่นหลัง”

ชุน ซูจิน (Chun Su-jin) ชาวเกาหลีใต้ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในชนชั้นปกครองของเกาหลีเหนือ ระบุว่า โอกาสที่ชนชั้นสูงจะยอมรับในตัวลูกสาว คิม นั้นแทบจะเป็น “ศูนย์” เลยก็ว่าได้

“พวกเขาไม่พร้อมจะยอมรับผู้นำที่เป็นเพศอื่นอย่างแน่นอน” ชุน กล่าว “(คิม จองอึน) ก็แค่ต้องการให้คนเห็นว่า เขาก็เป็นพ่อที่รักลูก ไม่ใช่แค่ผู้นำเผด็จการที่วันๆ เอาแต่สั่งยิงขีปนาวุธ”

ความเห็นของ ชุน สอดคล้องกับมุมมองของ ฮยุน อิน-เอ (Hyun In-ae) อดีตผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือซึ่งปัจจุบันทำงานกับสถาบันรวมชาติศึกษาอีฮวาในกรุงโซล โดย ฮยุน กล่าวว่า “ในเกาหลีเหนือ เพศคือเรื่องสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำ”

แม้เกาหลีเหนือจะมีชนชั้นปกครองที่เป็นหญิงมาแล้วหลายราย ทว่าอดีตผู้นำ คิม จองอิล ก็ยังเลือกที่จะ “ข้าม” ลูกสาวและลูกชายหลายคน และยกบุตรชายคนเล็กอย่าง คิม จองอึน ขึ้นเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 ทั้งที่ในเวลานั้นมีคนตั้งข้อสังเกตกันมากว่า ลูกสาวคนที่ 2 ของเขามีโอกาสจะได้รับเลือกเป็นทายาทการเมืองเช่นกัน

มาในยุคของ คิม จองอึน เขาได้แต่งตั้งสตรีหลายคนขึ้นรับตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรคแรงงาน หนึ่งในนั้นคือ “คิม โยจอง” ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมมารดาของเขาเอง และ โช ซอนฮุย (Choe Son Hui) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของเกาหลีเหนือ

ช่วงที่มีข่าวลือว่า คิม จองอึน ป่วยหนักเมื่อปี 2020 คิม โยจอง ซึ่งอายุ 30 ปีเศษๆ และถือเป็นญาติสนิทที่สุดของผู้นำคิม ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนถึงขั้นถูกคาดหมายว่าอาจจะรับหน้าที่ “รักษาการ” ผู้นำสูงสุดไปจนกว่าลูกๆ ของ คิม จองอึน จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ราเชล มินยัง ลี นักวิจัยจากกลุ่ม 38 North ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ ชี้ว่า “คิม จองอึน เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากคนรุ่นปู่และบิดาของเขา และในบางแง่มุมก็ดูเหมือนว่า เขาจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าบรรพบุรุษของเขา”

อย่างไรก็ตาม ลี ย้ำว่าหากผู้นำ คิม มีลูกชาย เขาเหล่านั้นก็มีโอกาสมากกว่าที่จะถูกเลือกให้เป็นผู้สืบทอดสายเลือดจาก “ภูเขาแพ็กตู” ซึ่งเป็นชื่อภูเขาไฟที่อยู่ใกล้ชายแดนจีน และถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติเชื่อมโยงกับตระกูลคิม

38 North เคยระบุไว้ในรายงานเมื่อปี 2020 ว่า การที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในงานบริหารมากขึ้นอาจไม่ได้สะท้อนว่าสภาพสังคมและการเมืองของเกาหลีเหนือกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างชนิดถึงรากถึงโคน

ไมเคิล แมดเดน ผู้อำนวยการกลุ่ม North Korea Leadership Watch ชี้ว่า คิม จองอึน เวลานี้อายุแค่ราวๆ 40 ปี และหากไม่ได้มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง เขาก็จะยังมีเวลาอีกเหลือเฟือที่จะเลือกเฟ้นทายาทที่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำรุ่น 4 และเมื่อถึงเวลานั้นเรื่องเพศสภาพก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป

“ระยะเวลาอีกหลายสิบปีนับจากนี้อาจจะทำให้วัฒนธรรมการเมืองเกาหลีเหนือเปลี่ยนแปลงไป และสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการมีผู้นำที่เป็นหญิง” แมดเดน ระบุ